วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรกับการรักษามะเร็ง


        จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว นพ.สมหมาย ทองประเสริฐ เปิดคลินิกใน จ.สิงห์บุรี ทำการรักษาโรคมะเร็งแก่ผู้ป่วยโดยใช้ตำรับยาสมุนไพร ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีการแผนปัจจุบัน ขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ออกมาระบุว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรตำรับดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542 จนสามารถผลิตเป็นแคปซูล และได้ยื่นขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ สรรพคุณ “แก้น้ำเหลืองเสีย” กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปแล้วนั้น ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจข่าวดังกล่าว ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูลให้ทราบ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
        เริ่มจาก พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รายงานข้อมูลตำรับยารักษามะเร็งในตำรับยาไทย ว่า ปัจจุบันมีจำนวนตำรับยาสมุนไพรที่แจ้งขึ้นทะเบียนไว้ 86,095 ตำรับ เป็นตำรับยารักษามะเร็ง 1,927 ตำรับ ในจำนวนนี้เป็นตำรับยาใช้รักษามะเร็งตับ 85 ตำรับ รักษามะเร็งเต้านม 91 ตำรับ รักษามะเร็งปากมดลูก 43 ตำรับ และรักษามะเร็งปอด 44 ตำรับ จากการสำรวจ ข้อมูลของหมอพื้นบ้านพบว่า มีหมอพื้นบ้านที่ครอบครองตำรับยาสมุนไพรรักษามะเร็ง 228 คน ที่ยังคงใช้ตำรับยารักษาโรคมะเร็งในปี 2553 จำนวน 149 คน และหมอพื้นบ้านที่ยินดีเปิดเผยตำรับยาที่ตนเองรักษาจำนวน 11 คน รวม 13 ตำรับ
        สำหรับองค์ประกอบในตำรับยาพื้นบ้าน 13 ตำรับ ประกอบด้วย พืชวัตถุ 52 ชนิด ได้แก่ นมวัวชิ้ง ชาติตระโก เขือง ขาวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ฝางเสน ทองพันชั่ง กระชายแดง ขิง ดีปลี ขันทองพยาบาท กาฝากกรุง กาฝากตะแพง กาฝากคำป้อม กาฝากม่วงน้อย กาฝากม่วงใหญ่ ต้นตะกวง ตะไคร้ กำแพง 7 ชั้น เปลือกดานงาน โหราเท้าสุนัข รากตะโกนา พญารากเดี่ยว แท่งทอง บอระเพ็ด ลำดวนดง หม้ออบ ย่านางบ้าน ยาน่องแดง ลีลาวดี แน่งหอม บานไม่รู้โรยแดง บานไม่รู้โรยขาว ข้าวโพด ดอกคำฝอย สมอไทย มะกรูด พริกไทยดำ ไพล ยาดำ รากกะตังใบ รากคำห้อย เกสรบัวหลวง จ้านแดง ขมิ้นชัน กระชาย พุทธรักษา ขมิ้นอ้อย พริกไทย โกฏ สออ ปลาไหลเผือก และหนอนตายยาก สัตว์วัตถุ 2 ชนิด ได้แก่ คางคก กระดูกควายเผือก แต่ละตำรับมีเอกลักษณ์เฉพาะหมอ และมีการใช้สมุนไพรในตำรับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะพื้นที่ อย่างไรก็ตามมีการใช้หัวยาข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ประกอบในตำรับยารักษาโรคมะเร็งถึง 6 ตำรับใน 13 ตำรับ โดยกลุ่มมะเร็งที่หมอพื้นบ้านมีประสบการณ์ในการรักษา 5 ลำดับจากมากไปหาน้อย คือ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งมดลูก และมะเร็งผิวหนัง

           นอกจากนี้ตำรับยาไทยที่อ้างอิงในคัมภีร์แพทย์แผนไทยและมีผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำลังวิเคราะห์ว่าตำรับใดที่เหมาะสมจะนำมาศึกษาต่อยอดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิดได้แก่ มะเร็งตับ ปอด เต้านม และปากมดลูก ดังนี้

      1.ตำรับยาเบญจโลกวิเชียร (ยาห้าราก) ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิดได้แก่ รากชิ่งชี่ รากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม และรากมะเดื่อชุมพร มีรายงานผลการทดลองในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดด้วยเอทานอลในตำรับนี้ มีสมุนไพรรากคนทาและรากย่านางมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมและเซลล์มะเร็งปอดและยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี

      2.ตำรับเบญจกูล ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ดีปลี ชะพลู เจตมูลเพลิงแดง สะค้าน และขิง มีรายงานผลการทดลองในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดของตำรับนี้สามารถต้านมะเร็งปอดได้ดี โดยสารที่ออกฤทธิ์ที่ดีในเซลล์มะเร็งทุกชนิด ได้แก่ “สารพลัมบาจีน” ( plum bagin) ซึ่งสารดังกล่าวเสื่อมสลายง่ายที่อุณหภูมิปกติ 25 องศาเซลเซียส จึงควรเก็บ สารสกัดไว้ในอุณหภูมิต่ำ

      3.ตำรับเบญจามฤต เป็นตำรับยาในคัมภีร์ธาตุบรรจบคัมภีร์โรคนิทาน ซึ่งประกอบด้วย มหาหิงคุ์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี ดีเกลือ จากการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยระบุว่า สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งตับได้ โดยจากรายงานการวิจัยพบว่า สารสกัดที่ได้จากรงทอง มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง และสารสกัดด้วยเอธานอล น้ำจากผลดีปลีและผลพริกไทย ได้ผลต้านการออกซิเดชั่นในหลอดทดลอง โดยตำรับนี้ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำเป็นโครงการศึกษาวิจัยอยู่ในแผนการวิจัยปีงบประมาณ 2554

      4.ตำรับตรีผลา เป็นตำรับยาแผนไทยเพื่อล้างพิษออกจากระบบต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง เป็นยาที่ปลอดภัยไร้ผลข้างเคียงประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ลูกสมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม จากการศึกษาวิจัยในหนูทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ยับยั้งการเจริญและลุกลามของเซลล์มะเร็ง และมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ


       นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยสมุนไพรตำรับที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา อภ.ได้ศึกษาวิจัยสมุนไพรตำรับที่ใช้รักษาโรคมะเร็งซึ่งเป็นตำรับดั้งเดิมของ นพ.สมหมาย มาตั้งแต่ปี 2542 และได้รับอนุสิทธิบัตรเมื่อปี 2549 โดยสมุนไพรตำรับนี้ มีส่วนผสมของพืชสมุนไพร 8 ชนิด ได้แก่ มะไฟเดือนห้า พุทธรักษา แทงทวย พญายอ ปีกไก่ดำ เหงือกปลาหมอ ขาวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ จากการรวบรวมข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรตำรับนี้ตั้งแต่ปี 2529 พบว่า มีแนวโน้มในการยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็ง กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในหนูที่เป็นมะเร็ง และมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ ลดการแพร่กระจายของมะเร็ง และสารสกัดสมุนไพรตำรับนี้ได้ผ่านการศึกษาด้านความเป็นพิษเรื้อรังแล้ว ขณะนี้ อภ.ได้ยื่นขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ สรรพคุณ  “แก้น้ำเหลืองเสีย” เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

         ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือคณะอนุกรรมการยา เป็นผู้พิจารณา ว่ายาทั้งหมดในสูตรมีความเหมาะสม ปลอดภัยหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในขณะที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้รายงานผลการตรวจสอบคลินิก นพ.สมหมาย โดย นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า สถานพยาบาลหรือคลินิกมีใบอนุญาตถูกต้อง นพ.สมหมายมีใบประกอบโรคศิลปะ ส่วนที่เป็นข่าวนั้น นพ.สมหมายก็ไม่ได้มีการโฆษณาอวดอ้าง แต่เป็นเพราะสื่อให้ความสนใจทำข่าว และการรักษามะเร็งก็เป็นการผสมผสานการใช้ยาแผนปัจจุบันกับยาสมุนไพรที่ปรุงขึ้นเอง ซึ่งคนที่เป็นแพทย์และมีใบประกอบโรคศิลปะสามารถทำได้ในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะราย 

        จากข้อมูลที่กล่าวมา แม้ว่าสมุนไพรหลายชนิดจะมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงควรใช้วิจารญาณ มิฉะนั้นท่านอาจจะพลาดโอกาสสำคัญในการรักษาชีวิต.
เดลินิวส์
ที่มา : http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=3297.0
ภาพประกอบเพิ่มเติมจาก อินเตอร์เน็ต